ประเทศไทยพบแร่ทองคำอยู่เกือบทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าในการทำเหมืองแร่หรือขุดขึ้นมาขายด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ (หากนับจำนวนจุดที่พบ) จะพบตามร่องน้ำเป็นลำห้วยหรือแม่น้ำ โดยทองคำจะปะปนอยู่กับทรายและกรวดตามพื้น แหล่งแบบนี้เรียกเป็นภาษาที่เป็นทางการว่า แหล่งแร่แบบทุติยภูมิ หรือ secondary deposit หรือทองคำมาสะสมตัวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนน้อยจะพบทองคำในหิน โดยทองคำจะฝังตัวอยู่ในเนื้อหินหรือในแร่บางชนิดซึ่งฝังตัวในหินเช่นกัน แหล่งแร่แบบนี้เรียกเป็นภาษาทางการว่า แหล่งแร่แบบปฐมภูมิ หรือ primary deposit และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแหล่งแร่แบบทุติยภูมิ
แผนที่เห็นนี้ แสดงจุดที่พบแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยนำข้อมูลจุดพบแร่ทองคำที่ได้จากการสำรวจและรวมรวมของกรมทรัพยากรธรณีทั้งแบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ มาจุดลงบนแผนที่ประเทศไทยที่แสดงลักษณะของภูมิประเทศด้วย เป็นภาพที่เรียกว่า shaded relief map ซึ่งสร้างมาจากข้อมูลความสูงของภูมิประเทศที่ได้จากการสำรวจของ Space Shuttle และเป็นข้อมูลที่ใช้กันทั่วไป
|
แผนที่แสดงจุดที่พบแร่ทองคำในประเทศไทย |
จากภาพจะเห็นว่า จุดที่พบทองคำมีทางภาคเหนือ ต่อเนื่องลงมาทางด้านตะวันตก แล้วลงไปทางภาคใต้จนถึงชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นภูเขาสูง อีกแนวหนึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ตั้งแต่จังหวัดหนองคาย เลย ลงมาทาง พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง และจันทบุรี ซึ่งก็เป็นบริเวณที่เป็นภูเขาเช่นเดียวกัน บริเวณที่ไม่พบแร่ทองคำเลย จะเป็นที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบลุ่มภาคกลาง
จุดที่เป็นสีฟ้า หมายถึงแร่ทองคำที่พบเป็นแบบทุติยภูมิ ซึ่งโดยทั่วไปจะพบในชั้นกรวดทรายตามลำน้ำตามที่กล่าวมาแล้ว และจะมีจุดที่พบมากกว่าที่ปรากฏในแผนที่นี้ แต่ตัดออกเนื่องจากมีจุดหนาแน่นมากเกินไป หรือไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แร่ทองคำที่พบแบบนี้ มีมากกว่าที่ปรากฏในแผนที่นี้มาก และก็เช่นเดียวกัน ในบริเวณใกล้ๆ ก็จะมีแหล่งแร่แบบปฐมภูมิด้วย แต่ยังสำรวจไม่พบ
แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิ สามารถทำเหมืองได้ง่ายกว่าแบบปฐมภูมิ ชาวบ้านทั่วๆ ก็สามารถขุดร่อนแร่ทองคำได้ด้วยตนเองโดยเครื่องมือง่ายๆ ที่เรียกว่า "เลียง" หรือ "บั้ง" หรือ "pan" (เป็นคำที่ใช้เรียกทางภาคใต้ เหนือ/อิสาน และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ) จากตะกอนกรวด/ทราย ตามลำน้า และแหล่งแร่แบบนี้ มักปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ ว่ามีการตื่นทองคำที่โน่น ที่นี้ เช่น ตามลำน้ำวัง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง บ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านบ่อนางชิง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
ปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำที่ดำเนินการอย่างถูกต้องจำนวน 2 แห่ง และทำเหมืองแร่จากแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ คือ แหล่งแร่ภูทับฟ้า อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ดำเนินการโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด) และแหล่งแร่ทองคำชาตรี อำเภอทับคล้อ-ชนแดน จังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์ (ดำเนินการโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด) แหล่งแร่ภูทับฟ้าเป็นแหล่งที่มีโลหะทองคำทั้งหมดประมาณ 5-10 ตัน ขณะที่แหล่งแร่ชาตรีมีโลหะทองคำประมาณ 60-70 ตัน
|
แผนที่แสดงจุดพบแร่ทองคำและเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย (ธันวาคม 2555) |
จากการสืบค้นฐานข้อมูลประทานบัตรของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ธ.ค. 2555) พบว่า มีประทานบัตรทั้งสิ้น 33 แปลง สิ้นอายุแล้ว 4 แปลง ในท้องที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี เหลือที่ยังไม่หมดอายุ 29 แปลง ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ นราธิวาส และจังหวัดเลย ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด (จำนวน 13 แปลง) บริษัท ชลสิน จำกัด (จำนวน 10 แปลง และแจ้งหยุดการ) และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (จำนวน 6 แปลง)
ต่อไปนี้ เป็นภาพที่คัดลอกจาก Google Earth (ธ.ค. 2555) แสดงให้เห็นแผนผังโครงการทำเหมืองทั้งหมดของแหล่งแร่ทองคำทั้ง 2 แห่งที่กล่าวข้างต้น โดยภาพแรกเป็นแหล่งแร่ทองคำชาตรี เมื่อเดือน พศจิกายน 2553 และภาพที่ 2 เป็นแหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า เมื่อเดือน พฤษภาคม 2555 (เป็นภาพ thumbnail ของดาวเทียม IKONOS-2)
|
ภาพจากดาวเทียมของแหล่งแร่ทองคำ "ชาตรี" จังหวัดพิจิตร-เพขรบูรณ์ |
|
ภาพจากดาวเทียมของแหล่งแร่ทองคำ "ภูทับฟ้า" จังหวัดเลย |