Saturday, December 15, 2012

การเกิดแร่ทองคำ

     แร่ทองคำ หรือ ธาตุทองคำ หรือ สารทองคำ ที่มีตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา แต่มีปริมาณน้อยมาก จากข้อมูลที่สืบค้นจากข้อมูลอ้างอิงต่างๆ มีทองคำในเปลือกโลก (Earth's crust) ประมาณ 0.003 กรัมต่อหิน (ดิน) หนัก 1 ตัน หรือ ppm และมีในน้ำทะเลประมาณ 0.00003-5 ppm ทั้งนี้ ตัวเลขที่สืบค้นพบจะไม่ค่อยตรงกันนัก โดยในเปลือกโลกมักจะใกล้เคียงกัน แต่ในน้ำทะเลจะแตกต่างกันมาก น่าจะมีสาเหตุจากการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ทางเคมี ที่มีความผิดพลาดสูงเนื่องจากสารที่วิเคราะห์นั้น มีปริมาณน้อยมากๆ รวมถึงการที่มีผู้ทำวิจัยด้านนี้จริงๆ ไม่กี่คน และทำมานานมากแล้ว 
     ในด้านธรณีวิทยา แร่ทองคำนับได้ว่าเป็นแร่ที่พบเห็นมาก และอาจจะมากกว่าแร่ชนิดอื่นๆ ที่รูจัก จำนวนของเหมืองแร่ทองคำก็อาจจะมากที่สุดด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้น่าจะมีสาเหตุจากธรรมชาติของทองคำที่มีทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เป็นโลหะที่มีสีสรรสวยงาม สดใส ตลอดเวลา มีความอ่อนนิ่ม คงทน นำมารีด/ดัด และทำเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการทำเป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นที่นิยมตลอดกาล แต่เนื่องจากแร่ทองคำมีปริมาณหรือสัดส่วนที่น้อยมากในธรรมชาติ มีความต้องการสูง จึงทำให้ทองคำมีราคาสูง และมีผู้ค้นหาและขุดขึ้นมาขายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการศึกษาเกี่ยวกับการเกิด การสะสมตัว การทำเหมืองและการสกัดแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก รายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับทองคำสามารถดูได้จากเว็บของสมาคมค้าทองคำ ซึ่งมี ข้อมูลเกี่ยวกับโลหะทองคำ อธิบายไว้อย่างดี  
     เอกสารเผยแพร่ของกรมทรัพยากรธรณีหลายชิ้น ที่กล่าวถึงการเกิดของแร่ทองคำ โดยแบ่งเป็นแบบปฐมภูมิ (primary deposit) และแบบทุติยภูมิ (secondary deposit) โดยแบบปฐมภูมิหมายถึงพบทองคำในเนื้อหิน ส่วนแบบทุติยภูมิเป็นทองคำที่ผุพังมาจากแบบปฐมภูมิ เป็นแร่ทองคำอยู่ในชั้นดินหรือตะกอนกรวดทรายในลำน้ำตามรูปที่ 1 

รูปที่ 1.  การเกิดแร่ทองคำ แบบง่าย 
     ลักษณะการเกิดดังกล่าวเป็นการอธิบายการเกิดแร่ทองคำแบบง่ายเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ โดยแบ่งตามลักษณะ/ตำแหน่ง ของแร่ทองคำที่พบในธรรมชาติ แต่ไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับหินหรือสายแร่ที่มีทองคำปะปนอยู่ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของแหล่งที่มีการสะสมตัวแบบทุติยภูมิ 
     ตัวอย่างที่เห็นของการเกิดตามลักษณะดังกล่าว ได้แก่ แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา อำเภอวังทรายพุน จังหวัดพิจิตร (แต่ไม่มีส่วนของแร่ทองคำในลำน้ำ) ซึ่งมีการค้นพบและปรากฏเป็นข่าวเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 และมีการขุดแร่ทองคำกันเรื่อยมา บางครั้งมีนักแสวงโชคจากทั่วทุกสารทิศ เข้าไปขุดพร้อมกันหลายพันคน โดยทองคำที่พบเป็นแร่ทองคำที่ฝังประในเนื้อหิน/แร่ควอตซ์ (quartz) ซึ่งเป็นแบบปฐมภูมิ และแร่ทองคำที่ผุพังมาจากหินควอตซ์และปะปนอยู่ในชั้นเปลือกดิน 
     รูปที่ 2 เป็นสายแร่ควอตซ์ที่มีแร่ทองคำฝังประอยู่ ตอนบนเป็นสายควอตซ์ที่ผุพังไปแล้ว และมีชั้นเปลือกดินซึ่งเป็นดินปนเศษหินปิดทับอยู่ รูปที่ 3 เป็นชั้นเปลือกดินที่มองเห็นชัดเจนขึ้น และปิดทับบนหินดานซึ่งเป็นหินอัคนีชนิดไดออไรต์ (diorite) 


รูปที่ 2 สายควอตซ์ที่มีแร่ทองคำฝังประในเนื้อหิน,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร 


รูปที่ 3 ชั้นเปลือกดินที่มีแร่ทองคำปะปน วางปิดทับหินดานซึ่งเป็นหินไดออไรท์,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

     แร่ทองคำจะขุดพบในชั้นเปลือกดินก่อน โดยนำเอาดินปนเศษหินไปล้างและร่อนเพื่อแยกแร่ทองคำออกมา ทองคำที่ได้จะเป็นก้อนเล็กๆ ตามภาพที่ปรากฏในรูปที่ 4 รูปร่างของทองคำมักกลมไม่มีเหลี่ยม แต่หากนำสายควอตซ์ที่มีทองคำฝังประอยู่ ตามตัวอย่างในรูปที่ 5 จะต้องนำเอาหินไปบดให้ละเอียดก่อนเพื่อแยกแร่ทองคำออกจากก้อนหิน แล้วจึงนำไปล้างและร่อน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้ทองคำที่มีรูปร่างแตกต่างออกไป ตามรูปที่ 6 ซึ่งมักเป็นเหลี่ยมและผิวเรียบ 


รูปที่ 4 แร่ทองคำที่ร่อนได้จากชั้นเปลือกดิน มักกลมไม่มีเหลี่ยม,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

รูปที่ 5 แร่ทองคำฝังประในเนื้อหินควอตซ์,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร 

รูปที่ 6 แร่ทองคำที่ได้จากการบดหินแล้วนำมาร่อน มักเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบ,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

**** มีเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การเกิดในหินแบบปฐมภูมิ และการเกิดในดิน/ทราย แบบทุติยภูมิ


No comments:

Post a Comment