Tuesday, December 18, 2012

แร่ทองคำ

    ผมมีรูปถ่าย แร่ทองคำ หลายรูป ส่วนใหญ่ถ่ายตอนที่ทำงานอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณี จึงนำมาลงไว้ที่ blog นี้ อาจเป็นประโยชน์บ้าง และจะพยายามอธิบายที่มาที่ไปของรูปที่นำมาลงเท่าที่จำได้ตามความเหมาะสม  

    รูปถ่ายแร่ทองคำต่อไปนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แร่ทองคำที่ฝังประในหิน และทองคำที่ได้จากการร่อนแร่ (แบ่งเป็น แร่ทองคำที่เกาะอยู่กับแร่ควอตซ์, แร่ทองคำที่ร่อนได้จากชั้นเปลือกดิน, แร่ทองคำเป็นก้อนขนาดใหญ่, แร่ทองคำที่มีลักษณะพิเศษ)  

กลุ่มที่ 1  เป็นแร่ทองคำที่ฝังประในหิน 

คุณประเสริฐ กุมารจันทร์ ได้ตัวอย่างนี้มาจาก บางสะพาน และ
บริจาคให้ ห้องแสดงตัวอย่างแร่และหิน จังหวัดระยอง


คุณประเสริฐ กุมารจันทร์ ได้ตัวอย่างนี้มาจาก บางสะพาน  และ
บริจาคให้ ห้องแสดงตัวอย่างแร่และหิน จังหวัดระยอง


คุณประเสริฐ กุมารจันทร์ ได้ตัวอย่างนี้มาจาก บางสะพาน และ
บริจาคให้ ห้องแสดงตัวอย่างแร่และหิน จังหวัดระยอง  


คุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นำมาให้ดู  

คุณวัชระ สุขเกษม นักธรณีวิทยาของ บ.ทุ่งคำ จำกัด นำมาให้ดู  


ผมพบที่ ห้องแสดงตัวอย่างแร่และหิน จังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่แจ้งว่า มาจากแหล่งโต๊ะโมะ   


เป็นตัวอย่างจากเขาพนมพา จังหวัดพิจิตร นำมาตัดแล้วเห็นแร่ทองคำชัดเจน 


ตัวอย่างโผล่ลอยขึ้นมาจากเนื้อหินควอตซ์ 



กลุ่มที่ 2  เป็นแร่ทองคำ ที่ได้จากการร่อนแร่   

    กลุ่มที่ 2.1 เป็นแร่ทองคำที่เกาะอยู่กับแร่ควอตซ์ 








  กลุ่มที่ 2.2 เป็นแร่ทองคำที่ร่อนได้จากชั้นเปลือกดิน 











  กลุ่มที่ 2.3 แร่ทองคำเป็นก้อนขนาดใหญ่  








      กลุ่มที่ 2.4 แร่ทองคำ ที่มีลักษณะพิเศษ 
เป็นแร่ทองคำที่มีขนาดใหญ่ ไม่ผ่านตะแกรงที่อยู่ในเครื่องบด
 ทำให้ค้างอยู่ในเครื่องบด และกลิ้งไปมา จึงทำให้กลม
หรือเป็นทองคำก้อนเล็กๆ มาแปะติดกัน แล้วกลิ้งในเครื่องบด 

เช่นเดียวกับรูปข้างบน 

ตัวอย่างแร่ทองคำและโลหะทองคำที่ได้จากการหลอมแร่ทองคำจาเขาพนมพา
ทองคำที่ได้มีความบริสุทธิืมากกว่าร้อยละ 90 

--------- ******** ------ 



Saturday, December 15, 2012

การเกิดแร่ทองคำ

     แร่ทองคำ หรือ ธาตุทองคำ หรือ สารทองคำ ที่มีตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา แต่มีปริมาณน้อยมาก จากข้อมูลที่สืบค้นจากข้อมูลอ้างอิงต่างๆ มีทองคำในเปลือกโลก (Earth's crust) ประมาณ 0.003 กรัมต่อหิน (ดิน) หนัก 1 ตัน หรือ ppm และมีในน้ำทะเลประมาณ 0.00003-5 ppm ทั้งนี้ ตัวเลขที่สืบค้นพบจะไม่ค่อยตรงกันนัก โดยในเปลือกโลกมักจะใกล้เคียงกัน แต่ในน้ำทะเลจะแตกต่างกันมาก น่าจะมีสาเหตุจากการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ทางเคมี ที่มีความผิดพลาดสูงเนื่องจากสารที่วิเคราะห์นั้น มีปริมาณน้อยมากๆ รวมถึงการที่มีผู้ทำวิจัยด้านนี้จริงๆ ไม่กี่คน และทำมานานมากแล้ว 
     ในด้านธรณีวิทยา แร่ทองคำนับได้ว่าเป็นแร่ที่พบเห็นมาก และอาจจะมากกว่าแร่ชนิดอื่นๆ ที่รูจัก จำนวนของเหมืองแร่ทองคำก็อาจจะมากที่สุดด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้น่าจะมีสาเหตุจากธรรมชาติของทองคำที่มีทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เป็นโลหะที่มีสีสรรสวยงาม สดใส ตลอดเวลา มีความอ่อนนิ่ม คงทน นำมารีด/ดัด และทำเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการทำเป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นที่นิยมตลอดกาล แต่เนื่องจากแร่ทองคำมีปริมาณหรือสัดส่วนที่น้อยมากในธรรมชาติ มีความต้องการสูง จึงทำให้ทองคำมีราคาสูง และมีผู้ค้นหาและขุดขึ้นมาขายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการศึกษาเกี่ยวกับการเกิด การสะสมตัว การทำเหมืองและการสกัดแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก รายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับทองคำสามารถดูได้จากเว็บของสมาคมค้าทองคำ ซึ่งมี ข้อมูลเกี่ยวกับโลหะทองคำ อธิบายไว้อย่างดี  
     เอกสารเผยแพร่ของกรมทรัพยากรธรณีหลายชิ้น ที่กล่าวถึงการเกิดของแร่ทองคำ โดยแบ่งเป็นแบบปฐมภูมิ (primary deposit) และแบบทุติยภูมิ (secondary deposit) โดยแบบปฐมภูมิหมายถึงพบทองคำในเนื้อหิน ส่วนแบบทุติยภูมิเป็นทองคำที่ผุพังมาจากแบบปฐมภูมิ เป็นแร่ทองคำอยู่ในชั้นดินหรือตะกอนกรวดทรายในลำน้ำตามรูปที่ 1 

รูปที่ 1.  การเกิดแร่ทองคำ แบบง่าย 
     ลักษณะการเกิดดังกล่าวเป็นการอธิบายการเกิดแร่ทองคำแบบง่ายเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ โดยแบ่งตามลักษณะ/ตำแหน่ง ของแร่ทองคำที่พบในธรรมชาติ แต่ไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับหินหรือสายแร่ที่มีทองคำปะปนอยู่ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของแหล่งที่มีการสะสมตัวแบบทุติยภูมิ 
     ตัวอย่างที่เห็นของการเกิดตามลักษณะดังกล่าว ได้แก่ แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา อำเภอวังทรายพุน จังหวัดพิจิตร (แต่ไม่มีส่วนของแร่ทองคำในลำน้ำ) ซึ่งมีการค้นพบและปรากฏเป็นข่าวเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 และมีการขุดแร่ทองคำกันเรื่อยมา บางครั้งมีนักแสวงโชคจากทั่วทุกสารทิศ เข้าไปขุดพร้อมกันหลายพันคน โดยทองคำที่พบเป็นแร่ทองคำที่ฝังประในเนื้อหิน/แร่ควอตซ์ (quartz) ซึ่งเป็นแบบปฐมภูมิ และแร่ทองคำที่ผุพังมาจากหินควอตซ์และปะปนอยู่ในชั้นเปลือกดิน 
     รูปที่ 2 เป็นสายแร่ควอตซ์ที่มีแร่ทองคำฝังประอยู่ ตอนบนเป็นสายควอตซ์ที่ผุพังไปแล้ว และมีชั้นเปลือกดินซึ่งเป็นดินปนเศษหินปิดทับอยู่ รูปที่ 3 เป็นชั้นเปลือกดินที่มองเห็นชัดเจนขึ้น และปิดทับบนหินดานซึ่งเป็นหินอัคนีชนิดไดออไรต์ (diorite) 


รูปที่ 2 สายควอตซ์ที่มีแร่ทองคำฝังประในเนื้อหิน,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร 


รูปที่ 3 ชั้นเปลือกดินที่มีแร่ทองคำปะปน วางปิดทับหินดานซึ่งเป็นหินไดออไรท์,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

     แร่ทองคำจะขุดพบในชั้นเปลือกดินก่อน โดยนำเอาดินปนเศษหินไปล้างและร่อนเพื่อแยกแร่ทองคำออกมา ทองคำที่ได้จะเป็นก้อนเล็กๆ ตามภาพที่ปรากฏในรูปที่ 4 รูปร่างของทองคำมักกลมไม่มีเหลี่ยม แต่หากนำสายควอตซ์ที่มีทองคำฝังประอยู่ ตามตัวอย่างในรูปที่ 5 จะต้องนำเอาหินไปบดให้ละเอียดก่อนเพื่อแยกแร่ทองคำออกจากก้อนหิน แล้วจึงนำไปล้างและร่อน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้ทองคำที่มีรูปร่างแตกต่างออกไป ตามรูปที่ 6 ซึ่งมักเป็นเหลี่ยมและผิวเรียบ 


รูปที่ 4 แร่ทองคำที่ร่อนได้จากชั้นเปลือกดิน มักกลมไม่มีเหลี่ยม,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

รูปที่ 5 แร่ทองคำฝังประในเนื้อหินควอตซ์,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร 

รูปที่ 6 แร่ทองคำที่ได้จากการบดหินแล้วนำมาร่อน มักเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบ,
เขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

**** มีเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การเกิดในหินแบบปฐมภูมิ และการเกิดในดิน/ทราย แบบทุติยภูมิ


Thursday, December 6, 2012

แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย

     ประเทศไทยพบแร่ทองคำอยู่เกือบทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าในการทำเหมืองแร่หรือขุดขึ้นมาขายด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ (หากนับจำนวนจุดที่พบ) จะพบตามร่องน้ำเป็นลำห้วยหรือแม่น้ำ โดยทองคำจะปะปนอยู่กับทรายและกรวดตามพื้น แหล่งแบบนี้เรียกเป็นภาษาที่เป็นทางการว่า แหล่งแร่แบบทุติยภูมิ หรือ secondary deposit หรือทองคำมาสะสมตัวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนน้อยจะพบทองคำในหิน โดยทองคำจะฝังตัวอยู่ในเนื้อหินหรือในแร่บางชนิดซึ่งฝังตัวในหินเช่นกัน แหล่งแร่แบบนี้เรียกเป็นภาษาทางการว่า แหล่งแร่แบบปฐมภูมิ หรือ primary deposit และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแหล่งแร่แบบทุติยภูมิ  

     แผนที่เห็นนี้ แสดงจุดที่พบแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยนำข้อมูลจุดพบแร่ทองคำที่ได้จากการสำรวจและรวมรวมของกรมทรัพยากรธรณีทั้งแบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ มาจุดลงบนแผนที่ประเทศไทยที่แสดงลักษณะของภูมิประเทศด้วย เป็นภาพที่เรียกว่า shaded relief map ซึ่งสร้างมาจากข้อมูลความสูงของภูมิประเทศที่ได้จากการสำรวจของ Space Shuttle และเป็นข้อมูลที่ใช้กันทั่วไป  


แผนที่แสดงจุดที่พบแร่ทองคำในประเทศไทย


      จากภาพจะเห็นว่า จุดที่พบทองคำมีทางภาคเหนือ ต่อเนื่องลงมาทางด้านตะวันตก แล้วลงไปทางภาคใต้จนถึงชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นภูเขาสูง อีกแนวหนึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ตั้งแต่จังหวัดหนองคาย เลย ลงมาทาง พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง และจันทบุรี ซึ่งก็เป็นบริเวณที่เป็นภูเขาเช่นเดียวกัน บริเวณที่ไม่พบแร่ทองคำเลย จะเป็นที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบลุ่มภาคกลาง 

     จุดที่เป็นสีฟ้า หมายถึงแร่ทองคำที่พบเป็นแบบทุติยภูมิ ซึ่งโดยทั่วไปจะพบในชั้นกรวดทรายตามลำน้ำตามที่กล่าวมาแล้ว และจะมีจุดที่พบมากกว่าที่ปรากฏในแผนที่นี้ แต่ตัดออกเนื่องจากมีจุดหนาแน่นมากเกินไป หรือไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แร่ทองคำที่พบแบบนี้ มีมากกว่าที่ปรากฏในแผนที่นี้มาก และก็เช่นเดียวกัน ในบริเวณใกล้ๆ ก็จะมีแหล่งแร่แบบปฐมภูมิด้วย แต่ยังสำรวจไม่พบ 


     แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิ สามารถทำเหมืองได้ง่ายกว่าแบบปฐมภูมิ ชาวบ้านทั่วๆ ก็สามารถขุดร่อนแร่ทองคำได้ด้วยตนเองโดยเครื่องมือง่ายๆ ที่เรียกว่า "เลียง" หรือ "บั้ง" หรือ "pan" (เป็นคำที่ใช้เรียกทางภาคใต้ เหนือ/อิสาน และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ) จากตะกอนกรวด/ทราย ตามลำน้า และแหล่งแร่แบบนี้ มักปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ ว่ามีการตื่นทองคำที่โน่น ที่นี้ เช่น ตามลำน้ำวัง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง บ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านบ่อนางชิง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

     ปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำที่ดำเนินการอย่างถูกต้องจำนวน 2 แห่ง และทำเหมืองแร่จากแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ คือ แหล่งแร่ภูทับฟ้า อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ดำเนินการโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด) และแหล่งแร่ทองคำชาตรี อำเภอทับคล้อ-ชนแดน จังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์  (ดำเนินการโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด) แหล่งแร่ภูทับฟ้าเป็นแหล่งที่มีโลหะทองคำทั้งหมดประมาณ 5-10 ตัน ขณะที่แหล่งแร่ชาตรีมีโลหะทองคำประมาณ 60-70 ตัน 


แผนที่แสดงจุดพบแร่ทองคำและเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย (ธันวาคม 2555)

     จากการสืบค้นฐานข้อมูลประทานบัตรของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ธ.ค. 2555) พบว่า มีประทานบัตรทั้งสิ้น 33 แปลง สิ้นอายุแล้ว 4 แปลง ในท้องที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี เหลือที่ยังไม่หมดอายุ 29 แปลง ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ นราธิวาส และจังหวัดเลย ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด (จำนวน 13 แปลง) บริษัท ชลสิน จำกัด (จำนวน 10 แปลง และแจ้งหยุดการ) และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (จำนวน 6 แปลง)  

     ต่อไปนี้ เป็นภาพที่คัดลอกจาก Google Earth (ธ.ค. 2555) แสดงให้เห็นแผนผังโครงการทำเหมืองทั้งหมดของแหล่งแร่ทองคำทั้ง 2 แห่งที่กล่าวข้างต้น โดยภาพแรกเป็นแหล่งแร่ทองคำชาตรี เมื่อเดือน พศจิกายน 2553 และภาพที่ 2 เป็นแหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า เมื่อเดือน พฤษภาคม 2555 (เป็นภาพ thumbnail ของดาวเทียม IKONOS-2) 


ภาพจากดาวเทียมของแหล่งแร่ทองคำ "ชาตรี" จังหวัดพิจิตร-เพขรบูรณ์ 


ภาพจากดาวเทียมของแหล่งแร่ทองคำ "ภูทับฟ้า" จังหวัดเลย 




Monday, December 3, 2012

ทองคำ - ความหมาย และ หน่วยวัดต่างๆ

     ใน website นี้ จะกล่าวอ้างถึง "ทองคำ" หลายรูปแบบ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงให้ความหมาย “ทองคำ” ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ 
  •  "ทองคำ"  เป็นคำกล่าวทั่วๆ ไปไม่เฉพาะเจาะจง 
  • "โลหะทองคำ"  หมายถึงทองคำที่เป็นเนื้อโลหะ 
  • "แร่ทองคำ"  หมายถึงทองคำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ปะปนในหิน ดิน ทราย 
  • "จุดพบแร่ "  หมายถึงตำแหน่งที่พบแร่ในหิน ดิน ทราย (หมายถึงแร่ทองคำ) 
  • "สายแร่ทองคำ"  หมายถึง หิน ดิน ทราย ที่มีแร่ทองคำปะปนอยู่ด้วยมากกว่าหิน ดิน ทราย ที่อยู่ข้างเคียงและมีแนวให้เห็นเสมือนเป็นสาย 
  • "แหล่งแร่ทองคำ"  หมายถึงบริเวณที่มีการสะสมตัวของแร่ทองคำมากกว่าบริเวณข้างเคียง
  • "สินแร่ทองคำ"  หมายถึง หิน ดิน ทราย ที่มีแร่ทองคำปะปนอยู่ด้วยในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะนำมาสกัดเป็นโลหะทองคำได้ 

     นอกจากนี้ ยังมีหน่วยวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทองคำหรือเกี่ยวข้องกับการสำรวจแร่ ดังนี้  
  • ทองคำหนัก 1 ออนซ์ ( Troy ounce) เท่ากับ 31.1 กรัม 
  • ทองคำหนัก 1 ล้านออนซ์ เท่ากับ 31.1 ตัน 
  • ทองคำหนัก 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.15 ออนซ์ ( Troy ounce) 
  • ทองคำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.2  กรัม (จาก webpage ของสมาคมค้าทองคำแจ้งว่า "ทองคำแท่ง" 1 บาท หนัก 15.244 กรัม ส่วน "ทองรูปพรรณ" 1 บาท หนัก 15.16 กรัม) 
  • ppm หมายถึงส่วนในล้านส่วน หรือ 1 ppm (part per million) เท่ากับ 1 กรัมต่อตัน 
  • ppb หมายถึงส่วนในพันล้านส่วน หรือ 1 ppb (part per billion) เท่ากับ 0.001 กรัมต่อตัน